พกเมอร์ฟีไปเที่ยวลั่วหยาง, Frozen China 2

ครั้งแรกที่เราเห็นหิมะตกกับตาคือตอนที่กำลังนั่งรถไฟความเร็วสูงไปลั่วหยาง

และครั้งแรกที่เราติดหิมะอยู่ในรถไฟก็คือตอนที่กำลังไปลั่วหยาง

ลั่วหยางเป็นเมืองหลวงเก่าของจีน อยู่ทางใต้กว่าปักกิ่ง และเป็นเมืองที่มีวัดเส้าหลิน นี่คือสามสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเมืองก่อนจะลากกระเป๋าขึ้นรถไฟไปลั่วหยาง

ตามแผน (ของเพื่อน) แล้ว เราควรจะมีเวลาที่ลั่วหยางรวมแล้วราว 48 ชั่วโมง คือนั่งรถไฟความเร็วสูงไปจากปักกิ่งแต่เช้า ถึงที่นู่นในตอนบ่าย ว่างพอจะไปสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งแห่ง วันที่สองเต็มวัน และวันที่สามช่วงเช้าอาจจะไปได้อีกหนึ่งแห่ง จากนั้นก็นั่งรถไฟกลับไปปักกิ่ง จบบริบูรณ์อย่างมีความสุข

กฎของเมอร์ฟีว่าเอาไว้ว่า Anything that can go wrong, will go wrong

ลั่วหยางอยู่ทางใต้กว่าปักกิ่ง และไม่ได้อยู่บนพื้นที่สูงกว่าปักกิ่ง ไม่ใช่เมืองธรรมชาติจ๋าชนิดที่อุณหภูมิต่ำกว่าเมืองใหญ่ตลอดปี ในเมื่อปักกิ่งยังคงอุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็งเอาไว้ได้และพยากรณ์อากาศก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะมีหิมะ ใครจะไปคิดว่าระหว่างทางลงใต้อากาศก็ดันนึกครึ้มส่งหิมะตกลงมาซะนี่ หิมะเฉยๆ คงยังยืนยันกฎของเมอร์ฟีได้ไม่ถึงใจ ผิดพลาดไปให้ถึงที่สุดด้วยการแปลงร่างเป็นพายุหิมะบังคับให้รถไฟหยุดวิ่งจอดรอเวลาอยู่เฉยๆ ราวสองถึงสามชั่วโมง

อืม...

Mother Nature’s a bitch

นอกหน้าต่างขาวโพลนไปหมดมองไปได้ไม่ไกลกว่าภาพเบลอข้างทาง เรากับเพื่อนผลัดกันหลับผลัดกันตื่น เล่นเกมจนแบตฯ จะหมด เน็ตมือถือก็เล่นไม่ได้

ไม่แน่ใจว่าเพราะประเทศนี้ใหญ่เกินไป หรือเพราะความเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เครือข่ายโทรศัพท์ในประเทศนี้ไม่ได้จ่ายทีเดียวเล่นได้ทั่วจีน เราซื้อซิมที่ปักกิ่ง เล่นเน็ตได้ไม่อั้นที่ปักกิ่ง แต่ทันทีที่พ้นจากปักกิ่งแล้วถือว่านอกเขตการให้บริการ สัญญาณยังเต็มขีดอยู่ แต่ถ้าจะใช้เน็ตจะตัดเงินในมือถือออกไปแทนนะ

ต้องอยู่ต่างเมืองอีกตั้งสามวัน ก็เลยกลั้นใจพยายามไม่เล่น...พยายามที่สุดแล้ว...น่าจะไปจบตรงที่เงินเกือบหมดภายในชั่วโมงที่สองนั่นแหละ...

กว่ารถไฟจะให้บริการต่อได้ก็นอนจนเบื่อแล้ว ดีเลย์ไปกว่าแผนเดิมราวสองเกือบสามชั่วโมง ตอนที่ถึงสถานีลั่วหยาง หิมะยังตกหนักอยู่พอตัว การเดินตากหิมะให้ความรู้สึกเลวร้ายน้อยกว่าเดินตากฝนนิดหน่อย เราขึ้นรถเมล์ไปถึงที่พักตอนที่บ่ายแก่จนจะเย็นแล้ว ฟ้ามืดเร็วมาก ความตั้งใจที่จะได้ไปเดินดูอะไรสักหน่อยเป็นอันต้องล้มเลิก เราเก็บกระเป๋าเข้าห้องพักและเดินออกมาหาอะไรกินกันแทน

แผนวันนั้นหมดลงแบบงงๆ

แผนพังแบบไม่เหลืออะไรเลย

----------------------

ตอนที่ออกมาหาข้าวเย็นกินท้องฟ้าก็มืดสนิทเหมือนสองทุ่มแล้ว ทั้งที่เพิ่งจะหัวค่ำ หิมะยังตกปรอย

ถ้าจะถามถึงความผิดแผนทั้งวันที่ผ่านมา เลือกได้ก็อยากเที่ยวให้เต็มที่ตามแผนเดิมนั่นแหละ แต่ตอนนั้นระหว่างทางที่ห่อตัวอยู่ในเสื้อโค้ต ซุกหน้าอยู่กับผ้าพันคอ ดึงหมวกลงต่ำปิดหู และเก็บมือเข้ากระเป๋าด้วยความหนาว สองข้างทางแทบไม่มีคนออกมาเดินฝ่าหิมะ ฝั่งหนึ่งเป็นตึกแถวเรียงกันยาวเหยียดจนสุดถนน ทุกกรอบประตูหน้าต่างมีหิมะหนาซ้อนตัวกันอยู่ อีกฝั่งเป็นถนนเงียบเชียบ พื้นยางมะตอยแฉะชื้นสะท้อนแสงไฟข้างถนน เลยถนนไปอีกฟากเป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ที่ถูกถมอยู่ใต้กองหิมะหนาขาวโพลน...ตอนนั้นมันก็ไม่ได้เลวร้ายนักหรอก

ความจริงแล้วนั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เดินตากหิมะของจริง เกล็ดหิมะบางละมุนกว่าที่คิด แถมเกาะขนตาเก่งเหลือเกิน บรรยากาศกึ่งเหงากึ่งโรแมนติกอาจจะชดเชยเวลาที่เสียไปไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่ว่าจะหาความสวยงามจากข้อผิดพลาดทั้งหมดนี่ไม่ได้เลยล่ะนะ

เย็นนั้นได้กินอาหารร้านที่ใกล้ที่พักที่สุด เป็นซุปหน้าตาคล้ายต้มยำใส่นม กินกับแป้งคล้ายโรตี – นี่ก็อีกอย่าง ถ้าไม่ใช่เพราะไปไหนไม่ได้ก็คงไม่ได้กินหรอก

"ชั้นหิมะหน้าโฮสเทล"

----------------------

เราคิดว่าผิดพลาดสุดเท่าที่จะสุดได้แล้วในวันนั้น ถ้าเมอร์ฟีรู้ เมอร์ฟีคงจะหัวเราะใส่หน้า

ในเมื่อไม่มีอะไรให้ทำเราเลยกลับไปนั่งเล่นที่โฮสเทล คุยกับคุณป้าเจ้าของโฮสเทลและเพื่อนร่วมโรงแรมอีกคนหนึ่ง (สถานการณ์เป็นแบบนี้ เขาสามคนคุยกันเป็นภาษาจีน เรานั่งเฉยๆ อุ่นมือกับโต๊ะร้อน) ได้ความว่าปีนี้ลั่วหยางหนาวเร็วกว่าปกติหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งก็คือวันที่เราไปถึงพอดี

ข้อผิดพลาดมันหาทางไปให้ไกลยิ่งกว่าได้เสมอ

ย้อนไปเมื่อตอนมาเก็บของที่ห้อง ทั้งเราและเพื่อนก็รู้สึกว่าฮีตเตอร์ทำงานได้ไม่ดีเอาซะเลย แต่ด้วยความที่เป็นฮีตเตอร์ส่วนกลางจากรัฐบาล เพื่อนก็เดาเอาว่ารัฐบาลอาจจะปรับฮีตเตอร์ให้อีกทีในตอนเย็น

ประเทศจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ และความคอมมิวนิสต์คืออะไร เราเพิ่งรู้ซึ้งวันนั้นตอนนั้นเอง

ความคอมมิวนิสต์คือการที่รัฐบาลมีฮีตเตอร์ให้ทุกบ้านเหมือนกันอย่างเท่าเทียม และความคอมมิวนิสต์คือถ้ารัฐบาลยังไม่บอกว่าเข้าหน้าหนาว รัฐบาลก็จะยังไม่เปิดฮีตเตอร์ให้ ความเหลื่อมล้ำมันอยู่ตรงนี้ คนรวยจะมีเงินซื้อแอร์และฮีตเตอร์เป็นของตัวเอง จ่ายค่าไฟส่วนนั้นเอง แต่โฮสเทลน่ะเหรอ...ไม่มีหรอก

ในอุณหภูมิที่หิมะตก ฮีตเทกทับเสื้อแขนยาวทับสเวตเตอร์นอนห่มผ้ายังไงก็เอาไม่อยู่ จำได้ว่าคืนนั้นนอนขดตัวกลมดิ๊กเป็นลูกบอล หนาวจนคิดถึงประเทศไทย – อันที่จริงตลอดเวลาที่อยู่นู่นก็หนาวจนคิดถึงประเทศไทยเรื่อยๆ แต่คืนนั้นคิดถึงเป็นพิเศษ เชื่อเถอะว่าการนอนในอุณหภูมิสามสิบองศาแบบมีพัดลมเฉยๆ ยังดีกว่านอนในอุณภูมิหิมะตกห่อเสื้อผ้าสามชั้นแล้วยังเอาไม่อยู่เยอะมาก

นอนหลับๆ ตื่นๆ อยู่ทั้งคืนก็เช้าแล้ว สารภาพตามตรงว่าไม่มีการอาบน้ำใดๆ ทั้งสิ้น คนที่โฮสเทลชวนหารแท็กซี่ไปสุสานฮ่องเต้ด้วยกัน แล้วต่อด้วยถนนคนเดิน พอไปถึงก็เพิ่งรู้ว่าสุสานปิดทำการ จำไม่ได้ว่าเพราะเป็นวันหยุดหรือเพราะหิมะตกหนัก แต่โชคดีที่ไม่รู้คุยไปคุยมายังไงสุดท้ายก็ได้เข้าไปพร้อมคนอื่นอีกสามสี่คน บ่ายแก่ไปกินโจ๊กรสชาติประหลาดๆ ตกเย็นก็ไปเดินถนนคนเดิน

ความพีกของลั่วหยางมันต่อจากนี้

คืนนั้นกลับไปถึงโฮสเทลด้วยความเหนื่อยพอประมาณแต่หนาวมาก และยังเชื่อสุดใจว่าไม่มีอะไรผิดพลาดไปได้มากกว่าเมื่อวานแล้วแหละ

แต่ Anything that can go wrong, will go wrong

ที่อุณภูมิติดลบ หิมะตก และไม่มีฮีตเตอร์ อะไรจะเลวร้ายไปกว่านั้นได้อีกเหรอ

ได้

ยกตัวอย่างเช่น เครื่องทำน้ำอุ่นเสีย

"โต๊ะอุ่นมือและมือของเพื่อน"

----------------------

จำไม่ได้ว่าตอนนั้นเปิดน้ำรอมันอุ่นแล้วมันไม่อุ่นสักที หรือพนักงานโฮสเทลบอกตั้งแต่กลับมาถึงว่าน้ำอุ่นใช้ไม่ได้ทั้งตึก

การที่อากาศหนาวจนไม่มีเหงื่อออก ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่อาบน้ำยังไงก็ได้

ยังไงคืนนั้นเรากับเพื่อนก็ต้องได้อาบน้ำ เราเลยมองหาว่าเราควรจะอาบน้ำกันยังไงไม่ให้หนาวตายไปซะก่อนดี หันไปเจอกาต้มน้ำ เหมือนเป็นของสวรรค์มาโปรด! นี่ไงน้ำอุ่นที่ตามหา!

ตกลงว่าคืนนั้นเราก็ลงไปขอยืมกะละมังเอามารองน้ำต้มอาบ วินาทีที่น้ำอุ่นจนเกือบร้อนสัมผัสตัวนี่เหมือนอยู่บนสวรรค์ เหมือนฝันไป แต่วินาทีที่ความร้อนจากน้ำถ่ายเทไปหมดแล้วเหลือแต่ตัวเปียกๆ ก็คล้ายๆ กับตกนรกหนาวเช่นกัน

เอาเป็นว่ากฎของเมอร์ฟีเล่นเราไว้ได้หนักหนาทีเดียวสำหรับวันที่สองในลั่วหยาง

----------------------

วันสุดท้ายในเมืองนั้นเราพยายามทำเวลากันที่สุดเพื่อจะไปลั่วหยางหลงเหมิน โดยมีเดดไลน์อยู่ที่เที่ยงวัน

ด้วยความที่วางแผนมาไม่ดี เอาอารมณ์เข้าว่า คิดไปเองว่าเดินทางสบายๆ หนึ่งชั่วโมงยังไงก็ทันส่วนหนึ่ง และด้วยความจีนๆ เอาอารมณ์เข้าว่าจากคนขับรถบัสอีกส่วนหนึ่ง รถไม่เต็มไม่ออก ทำให้เราช้ากว่ากำหนดการที่กำหนดเอาเองไปสองชั่วโมง

มองนาฬิกาตอนขึ้นไปถึงหน้าทางเข้าเราก็รู้กันทันทีว่า...ต้องรีบลง...

นี่ไม่ใช่ความผิดเมอร์ฟี นี่เป็นความผิดเราเองที่วางแผนมาไม่ดี

หลงเหมินแค่มองจากด้านนอกและระหว่างทางเดินจากจุดจอดรถบัสถึงประตูทางเข้าก็สวยมากแล้ว ถ้ำหินผาของเส้าหลินในหิมะขาวโพลนเป็นหย่อมๆ ตั้งตระหง่านอยู่หลังสะพานที่ทอดตัวเหนือแม่น้ำสีเขียวขุ่นที่จับตัวแข็ง ยิ่งใหญ่เหมือนทุกอย่างในประเทศนี้

และเพราะรู้ดีว่าทุกอย่างในประเทศนี้ใหญ่โตไปหมด เลยตัดสินใจได้ว่าการจ่ายเงินเข้าไปเดินดูข้างในภายในเวลาที่กำหนดนั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่คุ้ม และค่อนข้างแน่ใจว่าเดินไปไม่พ้นบริเวณทางเข้า (ที่อาจจะยาวเป็นกิโลๆ) ก็ควรจะต้องกลับออกมาแล้ว

เราเลยทำได้แค่ชมความงามของมันอยู่ตรงหน้าประตูที่ขายตั๋ว แวะเข้าดูพิพิธภัณฑ์เข้าชมฟรีด้านข้าง และเดินลงจากหลงเหมินไปด้วยความเสียดาย

รถไฟกลับปักกิ่งมีกำหนดเวลาอยู่ราวๆ เที่ยงวัน เรากลับไปเก็บกระเป๋าอย่างเร่งด่วนและรีบเรียกแท็กซี่ไปสถานีรถไฟ...อย่างไม่ด่วน

รถแท็กซี่ใช้เวลาร่วมยี่สิบนาทีกว่าจะมาถึง กว่าจะไปถึงสถานีรถไฟที่ต้องไปออกตั๋วอีกก็เหลือเวลาไม่เกินสี่สิบนาทีในการต่อแถวออกตั๋วและแบกกระเป๋าวิ่งขึ้นรถไฟให้ทันเวลา

ก็บอกแล้วว่า Anything that can go wrong, will go wrong – เมอร์ฟีน่าจะหัวเราะหึๆ แล้วพูดอย่างนี้ใส่

แถวออกตั๋วยาวตลอดโถงไปจนถึงประตูทางเข้าโดยมีเคาน์เตอร์เปิดแค่สามจากสิบ และยาวเหยียดทั้งสามแถว เราต่อคิวอย่างมีมารยาทแต่ร้อนใจไปเป็นสิบนาที จนกระทั่งเราเห็นคนแซงคิวต่อหน้าต่อตา

นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวตลอดระยะเวลาสิบเอ็ดวันในจีนที่เราเจอคนแซงคิว

พอมีหนึ่งคนแซงคิวก็เหมือนปลดล็อกอะไรสักอย่าง มีคนแซงคิวต่อเรื่อยๆ ทุกคนในแถวโวยวายเสียงดังอย่างคนจีน อีกสักพักเจ้าหน้าที่ก็เอารั้วเหล็กมากั้นไม่ให้ใครมาแซงอีก เหลือเวลาอีกสิบห้านาทีให้เราออกตั๋วและไปขึ้นรถไฟ

ตอนนั้นน่าจะเป็นจุดที่เราต้องเป็นคนเลว และเอาวะ! เพื่อนเราบอกให้เราต่อคิวรอ ส่วนตัวเองเดินไปขอแทรกหน้าแถวบอกว่ารถไฟจะออกในอีกสิบห้านาทีแล้ว คนจีนตรงนั้นใจดีให้แทรกคิว เราเลยดิ่งไปยืนข้างเพื่อนทันที แต่คนที่อยู่ตรงเคาน์เตอร์มาพร้อมบัตรประชาชนจีนเป็นสิบใบ และทั้งพนักงานออกตั๋วและคนจีนคนนั้นก็ออกตั๋วกันแบบเรื่อยๆ ช้าๆ ประหนึ่งแถวไม่มี

อีกสิบนาที พี่จีนกับบัตรประชาชนยังไม่หมดปึก

น่าจะเลยเวลารถไฟออกไปแล้วตอนที่แถวขยับ แทนที่จะออกตั๋วเราเลยได้เปลี่ยนตั๋วกันแทน

แต่อะไรมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นหรอก จะพลาดต้องพลาดให้สุด

ระบบตั๋วรถไฟล่ม เปลี่ยนตั๋วไม่ได้ ซื้อใหม่ได้อย่างเดียว ตอนนั้นเราว่าครึ่งหนึ่งของแถวที่เหลือน่าจะตกรถไฟกันถ้วนหน้า และทุกคนที่ต้องการเดินทางก็ต้องซื้อตั๋วใหม่กันหมด ชาวจีนบ่นกันระงม เราชาวไทยก็บ่นด้วย แต่ทำอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้แล้ว

ค่าตั๋วรถไฟใหม่ราคาสามร้อยกว่าหยวน ไม่ว่าจะตอนนั้นที่ไม่มีเงินหรือตอนนี้ที่ย้อนกลับไปคิดถึงก็เจ็บกระเป๋าตังค์พอกัน

รถไฟขบวนใหม่ของเราต้องไปเปลี่ยนสายที่สถานีใหญ่อีกหนึ่งครั้ง ไม่ได้ตรงดิ่งเข้าสู่ปักกิ่งเลย แต่นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว...ซึ่งอันที่จริงจะเรียกว่าเป็นทางเลือกเดียวที่มีก็ยังได้

ได้เวลาบอกลาลั่วหยางแล้ว

 "ทางเดินจากจุดจอดรถบัสไป (ยังไม่) ถึงทางเข้า"
"ไกลๆ โน่นคือหลงเหมิน"

----------------------

ตอนที่เราขึ้นไปนั่งบนรถไฟ หันไปมองนอกหน้าต่างแล้วก็รู้สึกว่าน่าเสียดายที่มาลั่วหยางคราวนี้ยังแทบไม่ได้รู้จักเมืองเท่าไหร่เลย

หิมะไม่ตกแล้ว จำไม่ได้ว่าตอนนั้นฟ้าสวยหรือไม่สวยยังไง หรือกระทั่งว่ามองเห็นฟ้ารึเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ เราคงมองนอกหน้าต่างของรถไฟที่จอดนิ่งรอรับผู้โดยสารไปเรื่อยๆ มองคน มองป้ายโฆษณา มองนายสถานี หูได้ยินภาษาจีนจับใจความได้แค่หนึ่งคำต่อประโยค พอเบื่อก็ย้ายมามองมือถือแทน

ต่อให้อะไรๆ ดูจะผิดแผนไปหมด แต่มันก็ไม่ได้แย่ไปซะทีเดียว เราไม่รู้หรอกว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้เราจะสนุกกับมันมากหรือน้อยกว่านี้ไหม แต่ว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และเราสนุกดีกับการหัวหมุน

แล้วตอนนั้นก็เหมือนกฎของเมอร์ฟีมากระซิบที่ข้างหูว่า...อีกนิดนะ

รถไฟดีเลย์ออกไปอีกไม่นาน แต่ก็นานพอให้เราตกรถไฟขบวนที่จะไปเปลี่ยนสาย – อีกนิดอย่างที่เขาว่านั่นแหละ – รอบนี้เปลี่ยนตั๋วเปลี่ยนเที่ยวได้ เรานั่งกินไก่ทอดโรยชีสรอที่สถานี ผ่านไปสักชั่วโมงก็ได้เวลาขึ้นรถไฟ บอกลาเมอร์ฟีแล้วมุ่งหน้าตรงกลับปักกิ่ง และหวังว่าเมอร์ฟีจะไม่ตามกลับไปด้วยนะ

----------------------

(กลายเป็นบล็อกบ่นเรื่องท่องเที่ยวไปซะแล้ว...)
(ตอนติดหิมะบนรถไฟน่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตทีเห็นเน็ตขึ้น GPRS บนไอโฟน...) 

Comments

Popular posts from this blog

เรื่องเล่าตอนทำพาสปอร์ตหาย และฮาวทูทำยังไงดี Missing Passport and How To Find It (Hint: you don’t)

Tokyo Summer Night คืนหนึ่งคืนนั้นในฤดูร้อน